การแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของ สามก๊ก

การแปลสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ นั้น ในหนังสือ "ตำนานสามก๊ก" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงรวบรวมประวัติการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ จนถึง พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นปีที่ทรงพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังนี้[17]

ภาษาปีพุทธศักราช
ภาษาญี่ปุ่นตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2235
ภาษาไทยแปลเมื่อ พ.ศ. 2345 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2408
ภาษาสเปนตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2373
ภาษาฝรั่งเศสตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2388
ภาษาเกาหลีตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2402
ภาษาญวนตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2452
ภาษาอังกฤษตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469 ก่อนหน้านี้มีการแปลสามก๊กเป็นภาษาอังกฤษในบางตอนแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2469 เป็นการแปลตลอดทั้งเรื่อง ผลงานของบริวิต เทเลอร์
ภาษาเขมรไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน และยังไม่มีการตีพิมพ์สามก๊กฉบับภาษาเขมรในขณะที่ทรงนิพนธ์ เชื่อได้ว่าการแปลสามก๊กเป็นภาษาเขมรนั้น ได้ต้นฉบับจากสามก๊กภาคภาษาไทย[18]
ภาษามลายูพิมพ์เมื่อใดไม่มีข้อมูล (พิมพ์ที่สิงคโปร์)
ภาษาละตินไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน แต่มีต้นฉบับอยู่ที่รอยัลอาเซียติคโซไซเอตี (Royal Asiatic Society) โดยมีบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบิชอปอยู่ในประเทศจีนเป็นผู้แปล

นอกจากนี้ยังทรงเชื่อว่ายังมีสามก๊กที่แปลในภาษาอื่นที่ยังสืบความไม่ได้ เช่นภาษามองโกล เป็นต้น[18]

ในประเทศไทย สามก๊กได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วในปี พ.ศ. 2345 โดยซินแสผู้รู้ภาษาจีนได้แปลออกมาให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งก่อนทำการตีพิมพ์ ดังนั้นเมื่อนำสามก๊กของหลัว กวั้นจงซึ่งเป็นต้นฉบับ นำมาเปรียบเทียบเคียงกับภาษาไทยที่แปลโดย สังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นการแปลออกมาในรูปแบบของตำราพิชัยสงคราม หรือสามก๊ก ฉบับวณิพกของยาขอบ หรือฉบับสามก๊ก ฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์ จะเห็นว่าเนื้อและความหมายของบทประพันธ์ในหลายตอนมีคลาดเคลื่อนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการคลาดเคลื่อนของความหมายในสามก๊กนั้นเกิดจากผู้แปลโดยตรง[19] อย่างไรก็ดี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วรรณคดีสโมสร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ได้ตัดสินให้ "สามก๊ก" เป็นวรรณคดีประเภทเรียงความยอดเยี่ยมประเภทนิทาน เสมอกับเรื่องราชาธิราช เนื่องจากมีการใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและทอดแทรกแฝงแง่คิดต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยถือว่าสามก๊กนั้น เป็นตำราสำหรับใช้ในการศึกษากลยุทธ์ในการทำสงครามและประวัติศาสตร์ของจีนได้เป็นอย่างดี[20]

ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

สามก๊กฉบับหลัว กวั้นจงได้มีการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2345 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดแปลพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น และแปลพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช เพื่อให้คนไทยได้ใช้ศึกษาเป็นตำราพิชัยสงคราม โดยมอบหมายให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊ก มีความยาวทั้งสิ้น 95 เล่มสมุดไทย ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ได้แปลสามก๊กจากต้นฉบับทั้งหมด เนื่องจากการใช้สำนวน ภาษา และรูปแบบการแปลในตอนท้ายเรื่องเป็นคนละสำนวนกับตอนต้นเรื่อง สามก๊กฉบับนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือแบบฝรั่งครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเล มีจำนวน 4 เล่มจบ เมื่อปี พ.ศ. 2408 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[21] ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีกล่าวถึงในบทละครนอกเรื่องคาวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า

"เมื่อนั้น     ไวยทัตหุนหันมาทันตรึก
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก     ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน     เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก     ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ย้ายกลับไปทูลพระเจ้าป้า     ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด     จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา
              บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องคาวี[22]

เนื้อหาในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่มีการกล่าวถึงตำราพิชัยสงครามและสามก๊ก นับเป็นหลักฐานการยืนยันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความคุ้นเคยของชาวไทยที่มีต่อสามก๊ก และได้มีการค้นพบจดหมายเหตุในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งโปรดปรานบทร้อยแก้วของสามก๊กที่เป็นการแปลฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีพระราชดำริรับสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อสำหรับนำไปใช้ในการบริหารราชการบ้านเมืองสืบต่อไป[23]

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาชำระสอบทานต้นฉบับ แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือพระราชทานในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ต่อมาโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรได้ขอประทานอนุญาตจัดพิมพ์จำหน่าย ในชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" ในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งสามก๊กที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหลังจากนั้น พิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภามาโดยตลอด จนกระทั่งมีการตรวจสอบและชำระสอบทานต้นฉบับอีกครั้งด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ดอกหญ้ากับหอสมุดแห่งชาติ[24]

ฉบับวรรณไว พัธโนทัย

แปลโดย นายวรรณไว พัธโนทัย เป็นสามก๊กฉบับแรกที่พยายามแปลจากต้นฉบับสามก๊กภาษาจีนของ หลอก้วนจง ทำให้เป็นสามก๊กฉบับแปลไทยฉบับแรกที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับฉบับภาษาจีนและภาษาอังกฤษของ บริเวตต์ เทย์เลอร์ สามก๊กฉบับวรรณไว พัธโนทัย ยังเป็นฉบับที่ถือว่าแปลตามลักษณะของนิยายตะวันตกคือแปลคำต่อคำ โดยไม่ได้ดัดแปลงสำนวนภาษาแต่อย่างใด จึงค่อนข้างอ่านง่าย สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีรสทางวรรณกรรมเทียบเท่ากับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งใช้สำนวนเป็นภาษาชาววังโบราณ ส่วนฉบับนี้ภาษาที่ใช้ก็เป็นสำนวนปกติทั่วไป[25] อีกจุดหนึ่งที่สามก๊กฉบับนี้ยังคงไว้จากต้นฉบับคือ บทร้อยกรองต่าง ๆ และเนื้อหาของฎีกาหรือข้อความบรรยายบางจุดที่ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตัดออก ในฉบับนี้ก็ยังมีอยู่ครบ แต่กระนั้นก็ยังมีบางจุดที่แปลผิดพลาดอยู่บ้าง[26]

ฉบับวณิพก (ยาขอบ)

สามก๊ก ฉบับวณิพก โดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา

สามก๊กฉบับวณิพก ผลงานการประพันธ์ของยาขอบ เป็นการเล่าเรื่องสามก๊กใหม่ในแบบฉบับของตนเอง และเน้นตัวละครเป็นตัวไป เช่น เล่าปี่ผู้พนมมือแด่ชนทุกชั้น, โจโฉผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ, จิวยี่ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า, ตั๋งโต๊ะผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ, ลิโป้อัศวินหัวสิงห์, จูกัดเหลียงผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน, เตียวหุยคนชั่วช้าที่น่ารัก, กวนอูเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, จูล่งวีรบุรุษแห่งเสียงสาน, ยี่เอ๋งผู้เปลือยกายตีกลอง เป็นต้น อีกทั้งยังได้เพิ่มสำนวนและการวิเคราะห์ส่วนตัวเข้าไปด้วย โดยอาศัยสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์มาประกอบร่วมกับสามก๊กฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ในปี พ.ศ. 2529 จำนวน 2 เล่ม และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 - 2540 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในรูปแบบของหนังสือชุดจำนวน 8 เล่ม และตีพิมพ์เป็นเครื่องระลึกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของยาขอบโดยสำนักพิมพ์แสงดาว ในปี พ.ศ. 2551 จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งสองเล่ม

ฉบับตำราพิชัยสงคราม (สังข์ พัธโนทัย)

สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย สังข์ พัธโนทัย ลักษณะการแปลเป็นการรวบรวมเอาตัวละครเด่น ๆ ของเรื่อง มาสรุปเป็นตัว ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเสื่อมราชวงศ์ฮั่น ตั๋งโต๊ะยึดอำนาจ ฯลฯ ไปจนถึงอวสานยุคสามก๊กและมีการอ้างอิงตัวละครทั้งหมดในท้ายเล่ม มีการเทียบเสียงจีนกลาง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบรายชื่อตัวละครและสถานที่สำคัญในเนื้อเรื่อง นอกจากนี้สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม ยังเได้รับยอมรับว่า เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผู้คิดเริ่มอ่านสามก๊ก ควรอ่านก่อนสามก๊กฉบับอื่น ๆ เพราะอ่านง่ายและสรุปเรื่องได้ดี[ต้องการอ้างอิง] ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประดู่ลาย

ฉบับคนขายชาติ

เรียบเรียงโดย เรืองวิทยาคม มีทั้งสิ้น 655 ตอน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ในเครือผู้จัดการ เหตุในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมด้วยปัญหาทางการเมืองควบคู่กัน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งในเนื้อหาเจตนาผู้เขียนมิได้กระทบกระเทียบเสียดสีผู้ใดในบ้านเมือง[27][ต้องการอ้างอิง]

ใกล้เคียง

สามก๊ก สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2537) สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2553) สามก๊ก (มังงะ) สามก๊ก มหาสนุก สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู สามก๊ก ตอน แบ่งแยกแผ่นดิน

แหล่งที่มา

WikiPedia: สามก๊ก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelarou... http://www.moohin.com/059/059e003.shtml http://www.paisalvision.com/2008-10-30-11-41-42/51... http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K5028419/... http://www.siam-handicrafts.com/Webboard/question.... http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=M2621... http://www.thaisamkok.com/ http://www.%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0... http://www.thaipost.net/print.asp?news_id=84866&ca... http://web.archive.org/20040715074213/www.geocitie...